พณิชยการพระนคร

สำหรับพวกเราศิษย์เก่าพณิชยการพระนครทุกคน ไม่ว่าจะจบจาก "พณิชยการพระนคร" ภายใต้ชื่อใดก็ตามไม่ว่าจะเป็น "พณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง" "โรงเรียนพณิชยการพระนคร" "วิทยาลัยพณิชยการพระนคร" "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตพณิชยการพระนคร" "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร" "มหาาิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร " ทุกคนล้วนเคยอยู่ภายใต้พระบารมีของเสด็จพ่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และศึกษาเล่าเรียนในวังเดิมของท่าน

ถ้าเปรียบพณิชยการพระนครและศิษย์เก่าเป็นสำเภา เรารอนแรมเดินทางผ่านทั้งวัดและวังมายาวนานกว่า 120 ปี นับเป็นสถาบันการศึกษาด้านพณิชยกรรมแห่งแรกของประเทศไทย ผลิตบุคคลากรที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนวิชาการค้าหรือแบบ “พณิชยการ” แห่งแรกของประเทศไทยคือ “วิทยาลัยพณิชยการพระนคร”

แต่เดิมนั้นวิทยาลัยพณิชยการพระนครเป็นโรงเรียนประถมศึกษาพิเศษภาษาอังกฤษ จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อแผนการศึกษาฉบับแรกที่ออกโดยกระทรวงธรรมการใน พ.ศ. ๒๔๔๑ คือให้มีการเรียนการสอนที่เรียกว่า “ศึกษาพิเศษ” หรือ “อาชีวะศึกษา” เป็นวิชาเฉพาะ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จบออกมาแล้วสามารถประกอบอาชีพได้ วิชาที่เปิดสอน เช่น วิชาแพทย์ วิชารังวัด วิชาช่าง วิชาเพาะปลูก วิชาหัตถกรรม และวิชาการค้า เป็นต้น

ในส่วนของโรงเรียนพาณิชย์ หรือแต่เดิมก็คือโรงเรียนประถมศึกษาพิเศษวัดสัมพันธวงศ์เป็นโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ แล้วต่อมาจึงได้ปรับหลักสูตรเพิ่มวิชาเสมียญพนักงาน วิชาค้าขายและการบัญชี  อย่างไรก็ตามกว่าจะมาเป็นโรงเรียนพาณิชยการพระนครในทุกวันนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องระหกระเหเร่ร่อน โยกย้ายสถานที่และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง

พ.ศ. ๒๔๔๓ – กำเนิด “โรงเรียนประถมศึกษาพิเศษภาษาอังกฤษวัดสัมพันธวงศ์”

พ.ศ. ๒๔๔๕ – ชื่อโรงเรียนอังกฤษวัดมหาพฤฒาราม (มัธยม) ย้ายไปที่วัดมหาพฤฒาราม

พ.ศ. ๒๔๕๓ – เริ่มใช้ชื่อโรงเรียนพณิชยการเรียกว่า โรงเรียนพณิชยการวัดมหาพฤฒธาราม ในปีเดียวกันนี้ถือกำเนิดโรงเรียนในเครือคือ โรงเรียนพณิชยการวัดราชบูรณะ

พ.ศ. ๒๔๕๖ – โรงเรียนพณิชยการวัดราชบูรณะ ย้ายไปที่โรงเรียนเพาะช่าง

พ.ศ. ๒๔๕๙ – รวมโรงเรียนพณิชยการวัดราชบูรณะเข้ากับโรงเรียนพณิชยการวัดมหาพฤฒธาราม และย้ายไปที่วัดแก้วฟ้าล่าง เรียกว่า “โรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง”

พ.ศ. ๒๔๗๒ – เนื่องจากมีนักเรียนเข้าศึกษาเพิ่มมากขึ้น จึงไปอาศัยสถานที่วัดหัวลำโพง ในปีนี้ได้เปิดที่เรียนเพิ่มที่วัดสามพระยาและเรียกที่เปิดใหม่ว่า “โรงเรียนพณิชการวัดสามพระยา”

พ.ศ. ๒๔๗๖ – เปิดรับนักเรียนหญิง พร้อมกับเปิดสถานที่เรียนใหม่เรียกว่า “โรงเรียนพณิชยการเสาวภา”

พ.ศ. ๒๔๘๐ – ย้ายที่เรียนโรงเรียนพณิชยการวัดสามพระยาไปที่วัดเทวราชกุญชร

พ.ศ. ๒๔๘๓ – รวมโรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่างกับโรงเรียนพณิชยการวัดสามพระยา เรียกว่า “โรงเรียนพณิชยการพระนคร”

พ.ศ. ๒๔๘๓ – ๒๔๙๑ ไปอาศัยที่เรียนที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข ที่วังบูรพาภิรมณ์

พ.ศ. ๒๔๙๒ – มีสถานที่เป็นของตัวเองครั้งแรกที่วังกรมหลวงชุมพรฯ นางเลิ้ง

พ.ศ. ๒๕๑๑ – ๒๕๑๒ เปิดสอนแผนกวิชาบริหารธุรกิจระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ตั้งวิทยาลัยแยกออกจากโรงเรียนพณิชยการพระนคร แล้วรวมกันอีกครั้งระหว่าง “วิทยาลัยพณิชยการ” กับ “โรงเรียนพณิชยการพระนคร” เป็น “วิทยาลัยพณิชยการพระนคร”

๒๕๑๖ – โอนไปสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวะศึกษา และกลายเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนครในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกระดับจากวิทยาลัยเป็นสถาบัน และพระราชทานชื่อใหม่ ให้วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล" ทำให้วิทยาลัยพณิชยการพระนคร ได้ยกระดับเป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร"

พ.ศ. ๒๕๔๘  อนุสนธิจาก พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒  ที่ต้องการให้มีการรวมการ    จัดการศึกษาทุกระดับไว้ในกระทรวงเดียวกัน คือกระทรวงศึกษาธิการ และให้สถาบันอุดมศึกษา ที่สอนในระดับอุดมศึกษา มาอยู่ในสังกัดเดียวกัน คือ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา รวมทั้งยังมีการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา เพื่อให้มีการบริหารจัดการการศึกษาที่เป็นอิสระคล่องตัวยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิด พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ทำให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล กลายเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

พ.ศ. ๒๕๔๙  คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ศูนย์พณิชยการพระนคร) ได้จัดตั้งขึ้นตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ๙ แห่ง โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ประกอบด้วย ๕ วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตเทเวศร์ วิทยาเขตโชติเวช วิทยาเขตพณิชยการพระนคร วิทยาเขตชุมพร   เขตอุดมศักดิ์ และวิทยาเขตพระนครเหนือ ตามพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๔๘ สังกัดคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล ด้านการปฏิรูปการศึกษา และนำพาประเทศสู่การแข่งขันกับนานาประเทศ เพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศโดยส่วนรวม เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคน โดยขยายฐานการให้บริการอุดมศึกษาให้มากขึ้นมุ่งให้การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษามีความคล่องตัว

คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ศูนย์พณิชยการพระนคร) มีวัตถุประสงค์ในการผลิตและพัฒนากำลังคนระดับสูง ให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดำเนินการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ให้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนา การผลิต ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพื่อความสามารถในการพึ่งตนเองและการแข่งขันในระดับนานาชาติ  ให้บริการวิชาการแก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการให้คำปรึกษา แนะนำ การวิจัย การพัฒนา และการทดสอบ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม อันเป็นจารีตประเพณี รวมทั้งศิลป์บริสุทธิ์และศิลป์ประยุกต์ เพื่อให้เป็น ศูนย์รวมของชุมชน